Last updated: 3 ก.ค. 2564 | 110825 จำนวนผู้เข้าชม |
ถูกฟ้องยึดเงินเดือน ทำอย่างไรดี?
หลายๆท่านส่งข้อความมาปรึกษา เนื่องจากมีความกังวลและเครียดมาก กลัวโดนหักเงินเดือนจนหมดตัว ไม่มีเงินจะไว้ใช้ส่วนตัว เครียดและนอนไม่หลับเป็นคืนๆ บางท่านโทรมาสอบถามไปร้องไห้ไป กลัวจะโดนยึดเงินเดือน ทั้งเป็นผู้ลูกหนี้โดยตรงและเป็นผู้ค้ำบ้าง ผมเลยขออนุญาตทำบทความนี้ขึ้นมา เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่า
หากท่านมีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท บังคับคดีอายัดเงินเดือนไม่ได้
กฏหมายฉบับใหม่ได้มีการระบุไว้ชัดเลยครับ ว่า หากท่านเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท บังคับห้ามมีการอายัดเงินเดือนลูกหนี้ ยกเว้นเสียแต่ ท่านยินยอมที่จะชดใช้ให้เสียเองครับ
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ระบุลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท บังคับคดีอายัดเงินเดือนไม่ได้
บังคับใช้ 4 ก.ย. ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีเงินได้ ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่น จากเดิม 1 หมื่นบาท ตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ด้าน กรมบังคับคดี แจ้งปรับให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน หลังมีการใช้ข้อกฏหมายเดิมมานานกว่า 20 ปี
เมื่อก่อนหากท่านเงินเดือนเกิน 10,000 บาทก็จะถูกอายัดเงินเดือนแล้วครับ แต่ด้วยตัวกฏหมายใหม่ มีการปรับเปลี่ยนให้ตรงต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ดังนั้นหากท่านมีเงินได้หรือเงินเดือนที่ต่ำกว่า 20,000 บาท ก็จะไม่ถูกอายัดเงินเดือนครับ
สรุปง่ายๆก็คือ เงินจำนวน 20,000.-บาทนี้ เขา"กัน"เอาไว้...เพื่อให้ลูกหนี้เอาไว้ใช้สำหรับ ซื้อข้าวปลาอาหารกิน "กันอดตาย" ... ไม่ใช่ เพื่อเอาไปใช้หนี้ระบบหรือหนี้อื่นๆนะครับ
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ย. 2560 เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้โดยกฎหมายได้ ที่ระบุใจความสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มาตรา 302 “กฎหมายได้ปรับรายได้หรือเงินเดือน จากเดิมกำหนดว่า 1 หมื่นบาทแรก เป็น 2 หมื่นบาทแรก ไม่สามารถอายัดได้นั้น เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป”
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มาตรา 302 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคําพิพากษาต่อไปนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
สำหรับทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ประกอบด้วย
1. เบี้ยเลี้ยงชีพ ซึ่งกฎหมายกําหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจํานวนไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจํานวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
2. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้ ในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บํานาญ หรือบําเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
3. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากนี้ ยังมีนายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจํานวนรวมกันไม่เกินเดือนละ 20,000 บาทหรือตามจํานวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
4. บําเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม, เป็นจํานวนไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
5. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคําพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่น เป็นจํานวนตามที่จําเป็นในการดําเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท จะไม่ถูกบังคับคดี เพราะจะบังคับคดีได้เฉพาะส่วนที่เกิน 20,000 บาท เท่านั้น
ส่วนเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ บำเหน็จตกทอดทายาท เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ ตามมาตรา 302 (2) จะไม่ถูกบังคับคดี
โดยไม่ต้องดูว่าเกินจำนวน 20,000 บาท หรือไม่ หรือคนทั่วไป ต้องเป็นเงินเดือนส่วนที่เกิน 20,000 บาท จึงจะบังคับคดีได้ แต่ถ้าเป็นข้าราชการ เงินเดือน เงินบำนาญ บังคับคดีไม่ได้
ส่วนคนที่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำ แต่มีเงินได้ในลักษณะ 3-4 เดือน เป็นเงินก้อน เช่น 50,000 บาท ซึ่งเข้ามาตรา 302 (1) ในกรณีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดี มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณา ยกเว้นการบังคับคดีให้ได้ตามสมควรในส่วนที่เกิน 20,000 บาท
คำถามที่พบบ่อย
1. เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาทดูจากฐานเงินเดือน หรือ หลังจากหักรายได้ทั้งหมด เช่น ค่าประกันสังคม ฯลฯ
ตอบ :
ตามกฏหมายเก่า (กฎหมายฉบับเดิม) การอายัดเงินเดือนจะสามารถอายัดได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายรับรวมกันทั้งหมด ของเดือนนั้นๆที่ได้รับ ไม่ใช่ให้คิดมาจากฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
ตามกฎหมายใหม่ : รายรับทั้งหมดในแต่ละเดือนของลูกหนี้ ในส่วนที่เกินกว่า 20,000 บาท ให้ทำการอายัดได้เลยทั้งหมด
โดยให้ลูกหนี้มีเงินเหลือติดตัวเอาไว้ใช้ เพียงแค่เดือนละ 20,000 บาท (สองหมื่นบาท)...เท่านั้นครับ
ซึ่งใน 20,000 บาทนี้ คุณจะถูกหักค่าประกันสังคม ค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณอาจจะเหลือเงินใช้สุทธิประมาณ 15,000 บาทต่อเดือนครับ
หมายเหตุ
กฏหมายอายัดเงินเดือนฉบับใหม่นี้ มาจากการพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แล้วพบว่า
ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากลูกหนี้มีรายรับต่อเดือนเหลือน้อยกว่า 20,000 บาท จะทำให้ตัวของลูกหนี้ไม่สามารถดำรงชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวของลูกหนี้ได้ (เนื่องจากค่าครองชีพต่างๆที่ปรับตัวสูงขึ้น) สมัยนี้ค่าข้าวจานนึงก็แพงแล้วครับ จึงออกกฏหมายตัวนี้มาครับ
ดังนั้น การอายัดเงินเดือนในแบบใดก็ตาม หากทำให้ลูกหนี้มีเงินรายรับต่อเดือนเหลือน้อยกว่า 20,000 บาทแล้ว จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถคำรงชีพอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจของปัจจุบันได้ จึงต้องทำการคุ้มครองรายรับต่อเดือนของลูกหนี้ ให้ต้องมีเงินเหลือเพื่อไว้ใช้ดำรงชีวิตไม่น้อยกว่า 20,000 บาท...เป็นหลัก
2. ขอลดหย่อนเงินที่ถูกหักได้หรือไม่?
ตอบ : ได้ครับ มีวิธีครับ
ลูกหนี้สามารถไปขอทำเรื่องขอลดหย่อนการอายัดเงินเดือน โดยไปเขียนคำร้องที่กรมบังคับคดี ให้ลดลงมา ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน
แต่...ตามข้อกฏหมายที่ถูกต้อง จำเลยจะไม่สามารถไปร้องขอที่กรมบังคับคดี ให้ทำการลดหย่อนการอายัดเงินประเภทอื่นๆ ที่มิใช่เงินเดือนได้เลย...อาทิเช่น
- เงินตอบแทนจากการออกจากงาน (เงินจ้างออก เงินค่าชดเชยที่บริษัทนายจ้างจ่ายให้ออกจากงาน โดยที่ไม่มีความผิด เช่น ขอจ้างออกจากงานโดยให้เงินชดเชย 1 ล้านบาท แบบนี้โดนอายัดยึดไปทั้งหมดครับ ) เงินจำนวนนี้ จะต้องโดนอายัด"ทั้งหมด"(100%)...ขอลดอายัดไม่ได้
- เงินโบนัส ( เงินโบนัสประจำปี เงินปันผลกำไรจากบริษัท ) เงินจำนวนนี้ จะต้องโดนอายัด"ครึ่งหนึ่ง"(50%)...ขอลดอายัดไม่ได้
แต่ถ้าหากมีการจ่ายเงินปันผลกำไรจากบริษัทนายจ้าง(Bonus) โดยการจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นประจำทุกๆเดือน หรือที่เรียกว่า Profit sharing รายเดือน เป็นลักษณะการจ่ายให้ทุกเดือนเรียกว่าค่า"คอมมิชชั่น"...ก็จะสามารถทำการขอลดหย่อนได้ เพราะถือว่าเป็นรายรับประจำเดือนเช่นกัน
แต่หากเป็นโบนัสที่นานๆให้ทีเช่น 6เดือนให้ โบนัส 50,000 บาท แบบนี้จะถูกหัก ครึ่งนึงของเงินที่เราได้เลยครับ
และ การขอลดอายัด โบนัส และรายรับอื่นๆที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแนบไปด้วย ศาลอาจจะพิจารณาให้ลดหรือไม่ลดให้เลยก็ได้
ที่มาข้อมูล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/069/1.PDF
แชร์ข่าว : Tags: ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อายัดเงินเดือน บังคับคดี www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/069/1.PDF
ตรินัยน์การทนายความ
ยุติธรรมนำใจเข้าถึงได้คลายปัญหา
ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่านด้วยใจครับผม
7 มิ.ย. 2567
28 ต.ค. 2563
23 พ.ค. 2567
22 พ.ค. 2567